แนะนำศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-มรส.
มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้ร่วมสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) โดยการสมัครสมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน เมื่อปี พ.ศ. 2547 ลำดับสมาชิกคือ 7-84100-003 ซึ่งเป็นส่วนหนึงของกิจกรรมสร้างจิตสำนึกตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช โดยดำเนินงานตามแนวทางของงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนในพื้นที่สวนป่าหอพุทธทาสธรรมโฆษณ์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กิจกรรมที่ได้ดำเนินการตั้งเเต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา
ปี พ.ศ.2551 จัดทำสวนไม้หอมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา โดยการปลูกรักษาพรรณไม้หอมจำนวน 51 ชนิด เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และพักผ่อนหย่อนใจ พร้อมจัดทำเว็บไซต์เผยแพร่ข้อมูลพรรณไม้หอมที่ปลูกรักษาในแปลง
ปี พ.ศ.2552 – 2553 มหาวิทยาลัยได้ร่วมสนองงานโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพืชพรรณ ทุ่งตาหนอนกับหน่วยงานต่าง ๆ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมหาวิทยาลัยรับผิดชอบพื้นที่ปาอนุรักษ์ แปลงที่ 11 จากแปลงศึกษาเรียนรู้ทั้งสิ้น 14 แปลง โดยดำเนินการสำรวจพรรณไม้ จัดทำทะเบียน ติดตั้งป้ายแสดงพรรณไม้และการใช้ประโยชน์ในแปลงป่าอนุรักษ์ สำรวจพบพันธุ์ไม้ 74 ชนิด และและปลูกพืชพื้นถิ่นเพิ่มเติม 7 ชนิด จัดทำเส้นทางพร้อมทำผังทางเดิน ศึกษาธรรมชาติภายในแปลง 3 เส้นทาง จัดทำจุดเรียนรู้พันธุ์ไม้เด่น 3 จุด และศึกษาประโยชน์ของพรรณไม้ที่มีอยู่ในแปลงพร้อมจัดทำเอกสารเผยแพร่แก่โรงเรียนสมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ปี พ.ศ.2554 มหาวิทยาลัยดำเนินงานโครงการฯ ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย และจัดกิจกรรมเรียนรู้พรรณไม้ในพื้นที่โครงการอนุรักษ์และพัฒนาพืชพรรณทุ่งตาหนอน จัดกิจกรรมเรียนรู้และศึกษาการใช้ประโยชน์จากแปลงป่าโดยบูรณาการกับการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ส่วนการดำเนินงานโครงการในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย มีการสำรวจและจัดทำป้ายชื่อพรรณไม้เด่น ๆ จัดกิจกิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชในแปลงไม้หอมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา
ปี พ.ศ.2555 มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ดำเนินการศึกษาสำรวจพรรณไม้ทั้งหมดในพื้นพื้นที่ของมหาวิทยาลัย พบพรรณไม้ทั้งสิ้น 48 วงศ์ 146 ชนิด โดยแบ่งพื้นที่ของมหาวิทยาลัยออกเป็น 13 โซน จัดทำแผนผังและรายการพรรณไม้ที่ปลูกรักษาอยู่ในแต่ละโซน นอกจากนี้ ได้ศึกษาการใช้ประโยชน์ของพรรณไม้ทั้ง 146 ชนิด จัดทำหนังสือและเผยแพร่ทางเว็บไซต์
จากพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 มาตรา 8 (8) ศึกษา วิจัย ส่งเสริมและสืบสานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในการปฏิบัติภารกิจของมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีได้สนองพระราชดำริในโครงการตามแผนแม่บท อพ.สธ. มาตั้งแต่แผนแม่บทระยะ 5 ปีที่สี่ (ตุลาคม 2549 – กันยายน 2554) โดยมหาวิทยาลัยได้สนองพระราชดำริโครงการในปี พ.ศ.2553 และดำเนินงานตามกรอบการเรียนรู้ทรัพยากร กรอบการใช้ประโยชน์ทรัพยากร และกรอบการสร้างจิตสำนึกทรัพยากร ภายใต้กิจกรรมปกปักทรัพยากร กิจกรรมสำรวจเก็บรวบรวมทรัพยากร กิจกรรมปลูกรักษาทรัพยากร กิจกรรมอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากร กิจกรรมศูนย์ข้อมูลทรัพยากร กิจกรรมวางแผนพัฒนาทรัพยากร กิจกรรมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากร และกิจกรรมพิเศษสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากร มาอย่างต่อเนื่องและได้จัดทำหนังสือขอให้สำนักงานโครงการ อพ.สธ. พิจารณาให้มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีจัดตั้งศูนย์ประสานงานโครงการ อพ.สธ. โดยสำนักงานโครงการ อพ.สธ. ได้อนุญาตให้จัดตั้งศูนย์ประสานประสานงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-มรส.) ตามหนังสือที่ พว 0206.1/7062 ลงวันที่ 27 มีนาคม 2563
ในการกำหนดนโยบายและความเชื่อมโยงเชิงนโยบายของศูนย์แม่ข่ายประสานงาน อพ.สธ. และศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. คือ มีพระราโชบายให้มีศูนย์แม่ข่ายประสานงาน อพ.สธ. 5 แห่ง กระจายตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (จฬ.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของสำนักพระราชวังที่ให้ อพ.สธ. เป็นหน่วยงานกลางในการประสานงานโดยตรงและผ่านทางศูนย์แม่ข่ายประสานงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการดูแลเครือข่ายของ อพ.สธ. (สมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนและสมาชิกฐานทรัพยากรท้องถิ่น) ที่ครอบคลุมอยู่ทั่วประเทศซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ที่กำกับดูแลมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และศึกษาวิจัยต่อยอดเพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรท้องถิ่นอย่างยั่งยืน โดยศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-มรส. อยู่ภายใต้ศูนย์แม่ข่ายมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์